“ยักยอก” ไม่ใช่ “ลักทรัพย์”
.
ความผิดฐานยักยอก = แอบเอา
ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ จะต้องพิจารณาว่าทรัพย์นั้นอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิดหรือไม่ หากทรัพย์อยู่ในความครอบครองแล้วมีการเบียดบังโดยทุจริตก็เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์
“การได้มาซึ่งครอบครอง” เช่น การมอบของให้ไปขาย/ การมอบเงิน-มอบอำนาจให้ไปใช้ชำระหนี้ ไปซื้อของ ไปฝากเข้าบัญชี/ ผู้รับจำนำ/ ผู้เช่าซื้อ/ ผู้เช่าทรัพย์/ ผู้รับฝากทรัพย์
“เบียดบัง” คือ แสดงตนว่าเป็นเจ้าของทรัพย์
**ยักยอกทรัพย์ของผู้อื่น**
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ระบุว่า ผู้ใดครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ตัวอย่าง การครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยเจตนาทุจริต
**ยักยอกทรัพย์ที่ผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิด**
ถ้าทรัพย์ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิด เช่น ไปซื้อของแล้วคนขายทอนเงินผิดเกินให้ เเล้วไม่ยอมคืน จัดว่ามีความผิด โดยรับโทษกึ่งหนึ่งของการยักยอกทรัพย์ผู้อื่น
– คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2544/2529 จำเลยเขียนเช็คสั่งจ่ายเงินโดยเขียนตัวอักษรว่าหนึ่งหมื่นบาทถ้วน แต่เขียนตัวเลข 100,000 บาท แล้วนำมาขอเบิกเงินจากธนาคาร พนักงานธนาคารสำคัญผิดในตัวเลขจ่ายเงินให้จำเลยไป 100,000 บาท เมื่อพบว่าจ่ายเงินเกินไป ถือได้ว่าเป็นการส่งมอบเงินให้โดยสำคัญผิด เมื่อเงินตกมาอยู่ในความครอบครองของจำเลยแล้ว จำเลยเบียดบังเอาเป็นของตน จำเลยมีความผิดตามมาตรา 352
– คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2135/2539 เจ้าหน้าที่ของธนาคาร (ผู้เสียหาย) ได้นำเงินฝาก จำนวน 60,000 บาท ของลูกค้ารายอื่น เข้าบัญชีของจำเลยโดยผิดพลาด ปรากฏว่าจำเลยประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งเป็นกิจการเล็กๆ มีเงินทุนหมุนเวียนเข้าออกบัญชีจำนวนเล็กน้อย สามารถตรวจสอบและรู้ถึงการนำเงินเข้าออกบัญชีได้โดยง่าย จึงฟังได้ว่าจำเลยรู้ว่ามีการนำเงินของผู้อื่นเข้าบัญชีของจำเลยโดยผิดพลาด การที่จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินดังกล่าวออกไปจากบัญชีของจำเลย เป็นการเบียดบังเอาเงินนั้นไปโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ที่ผู้อื่นส่งให้โดยสำคัญผิด
**ยักยอกทรัพย์สินหาย**
ถ้าทรัพย์ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เป็นทรัพย์สินหายที่ผู้กระทำความผิดเก็บได้ และเอาทรัพย์ไปโดยที่ผู้เก็บได้ไม่ยอมมอบคืนแก่เจ้าของ ผู้เก็บได้มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหาย โดยมีโทษกึ่งหนึ่งของการยักยอกทรัพย์ผู้อื่น
“ทรัพย์สินหาย” คือ ทรัพย์สินที่มีเจ้าของแต่ไม่รู้ว่าทรัพย์สินนั้นตกหายที่ใด ไม่รู้ว่าจะติดตามของหายคืนได้ที่ใด จึงถือว่าการครอบครองหลุดออกจากตัวเจ้าของแล้ว เมื่อตกหาย ผู้ที่เก็บได้ถือว่าเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ตกหายถ้าเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต
**ยักยอกทรัพย์ที่ตนมีหน้าที่ดูแล**
มาตรา 353 ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น รับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– คำพิพาษาศาลฎีกาที่ 113/2535 การเจรจาแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทยังตกลงกันไม่ได้ เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล จำเลยมีหน้าที่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามสิทธิของแต่ละคน จำเลยไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยรู้ว่าทรัพย์มรดกส่วนที่เป็นที่ดินจำเลยต้องแบ่งให้แก่ทายาททุกคนเท่า ๆ กัน แต่จำเลยจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทเป็นของตนโดยไม่ยินยอมที่จะให้เอาชื่อทายาทอื่นเป็นผู้รับมรดกร่วมกับจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล กระทำผิดหน้าที่ด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตนโดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354
**เหตุเพิ่มโทษสำหรับความผิดฐานยักยอก***
มาตรา 354ถ้าการกระทำผิดตามมาตรา 352 หรือ 353 ได้กระทำในฐานะที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งของศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ผู้กระทำต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– คำพิพากษาฎีกาที่ 532/2553
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 353, 354 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายมีหน้าที่จัดการมรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายตามสิทธิที่จะพึงมีพึงได้ การที่จำเลยที่ 1 โอนหุ้นของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 โอนหุ้นดังกล่าวกลับมาให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก จึงเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต ทำให้โจทก์ทั้งสามไม่ได้รับแบ่งปันหุ้นดังกล่าว ถือว่าเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสาม แม้จะได้ความว่าบริษัทนี้มีหนี้สินค้างชำระเป็นจำนวนมากก็เป็นคนละกรณีกัน เพราะโจทก์ทั้งสามต้องรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับมอบหมายให้จัดการหุ้นดังกล่าวของผู้ตายหรือไม่ อย่างไร คงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนหุ้นดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และจำเลยที่ 2 รับโอนหุ้นกลับมาจากจำเลยที่ 3 เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 354 ประกอบมาตรา 86
**ยักยอกทรัพย์สินมีค่าที่ซ่อนหรือฝังไว้**
มาตรา 355 ผู้ใดเก็บได้ซึ่งสังหาริมทรัพย์มีค่าที่ซ่อนหรือฝังไว้โดยพฤติการณ์ที่ไม่มีผู้ใดอ้างว่าเป็นเจ้าของได้ แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่น ต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“เก็บได้” คือ ขุด เจาะ รื้อ ค้น
“สังหาริมทรัพย์มีค่า” คือ ต้องเป็นสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณค่าในตัวทรัพย์นั้น ไม่ใช่จากราคาทรัพย์ ส่วนจะต้องมีค่าขนาดไหน
ต้องดูเป็นกรณี ๆ ไป โดยคำนึงถึงฐานะของผู้นั้นเป็นเกณฑ์
– คำพิพากษาฎีกาที่705/2489 (ป) เทวรูปหินอ่อนโบราณรูปนารายณ์สี่กร เป็นของโบราณราคาแพงฝังอยู่ใต้บริเวณปราสาทหินโบราณ เป็นโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุ จำเลยขุดได้และเบียดบังเอา เสีย จึงผิดตามพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ พ.ศ. 2504 มาตรา 31 แต่เทวรูปไม่มีคุณค่าเป็นพิเศษ ไม่ใช่สังหาริมทรัพย์อันมีค่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 355
คดีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ต้องแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดี หรือฟ้องร้องคดีอาญาเอง ภายใน 3 เดือนนับแต่วันรู้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและรู้ตัวผู้กระทำความผิด แต่ถ้ารู้เมื่อพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่วันเกิดเหตุแล้ว ก็ดำเนินคดีไม่ได้ เพราะคดีขาดอายุความ
คดียักยอกทรัพย์เป็นความผิดอาญาต่อส่วนตัว หรือความผิดอันยอมความได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 356
.
จำนวนคนดู :
1,825