ลาภงอก คืออะไร

|

#ผู้ได้ลาภงอก : คำนี้ในกฎหมายแปลว่าอะไร?
.
.
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า
.
“เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้”
.
“ผู้ได้ลาภงอก” หมายถึง บุคคลที่ทำนิติกรรมกับลูกหนี้โดยตรงและได้รับประโยชน์จากนิติกรรมนั้น
.
.
หลักเกณฑ์ตามมาตรา 237
.
1. ลูกหนี้ได้กระทำนิติกรรมอันมีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน (นิติกรรมที่ไม่ได้เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน เจ้าหนี้ขอเพิกถอนไม่ได้)
2. เจ้าหนี้เสียเปรียบ หมายถึง ลูกหนี้ทำนิติกรรมใดๆ ที่ทำให้ลูกหนี้จนลงถึงขั้นไม่มีทรัพย์สินพอชำระหนี้ หรือ ลูกหนี้ยังสามารถชำระหนี้ได้อยู่ แต่ลูกหนี้ทำนิติกรรมที่ทำให้ไม่อาจชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ครบถ้วน ต้องถือว่าทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่หากนิติกรรมไม่กระทบกระเทือนถึงฐานะ หรือความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ เจ้าหนี้เพิกถอนไม่ได้
3. ลูกหนี้รู้ว่าเจ้าหนี้เสียเปรียบ จากนิติกรรมที่ตัวลูกหนี้ได้ทำขึ้น
4. ถ้าไม่ใช่การให้โดยเสน่หา ผู้ได้ลาภงอกหรือบุคคลภายนอก ต้องไม่สุจริต หมายถึง รู้หรือควรจะรู้ว่าทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
.
.
ข้อสังเกตุ
– การให้โดยเสน่หา ลูกหนี้เพียงฝ่ายเดียวรู้หรือควรจะรู้ว่าทำให้เจ้าหนี้เสียบเปรียบ ผู้ได้ลาภงอกไม่จำเป็นต้องรู้
– ถ้าเป็นนิติกรรมที่มีค่าตอบแทน เจ้าหนี้ต้องพิสูจน์ว่า ผู้ได้ลาภงอก รู้ว่าทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
– ข้อสันนิษฐานที่ถือว่ารู้ ว่าทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เช่น ลูกหนี้ขายทรัพย์ให้ในราคาต่ำกว่าปกติ หรือ ขายให้ญาติพี่น้องหรือเพื่อนสนิท
– ถ้าผู้ได้ลาภงอก เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน เจ้าหนี้จะเพิกถอนนิติกรรมนั้นไม่ได้
– ผู้ได้ลาภงอกต้องรู้ในขณะทำนิติกรรมกับลูกหนี้ว่าทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ จึงจะถือว่าไม่สุจริต ถ้ามารู้ในภายหลัง เจ้าหนี้เพิกถอนไม่ได้